ค้นหาบล็อกนี้

ความพึงพอใจ

ความพึงพอใจ

ความหมายของความพึงพอใจ

วิจิตรา  แสงชัย (ศุภาพร  วงศ์ใหญ่, 2547 : 38 ; อ้างอิงมาจาก วิจิตรา  แสงชัย, 2543: 11) ได้กล่าวว่า ความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน หมายถึง ความรู้สึกที่ผู้ปฏิบัติงานมีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติงาน คิดค้นวิธีทำงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติงานที่ดี และจะทำให้องค์การบรรลุวัตถุประสงค์ความต้องการ
ไชยยัณห์  ชาญปรีชารัตน์ (2543: 52) ได้กล่าวว่าความพึงพอใจ หมายถึง ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่องานที่ปฏิบัติในทางบวก คือ รู้สึกชอบรักพอใจ หรือมีเจตคติที่ดีต่องาน ซึ่งเกิดจากการได้รับตอบสนองความต้องการทั้งทางด้านวัตถุ และด้านจิตใจ เป็นความรู้สึกที่มีความสุขเมื่อได้รับความสำเร็จ ตามความต้องการหรือแรงจูงใจ
ปนัดดา  ยอดระบำ (2544 : 6) ได้กล่าวว่า ความพึงพอใจเป็นความรู้สึกที่ดีที่ชอบที่พอใจหรือที่ประทับใจของบุคคลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ได้รับโดยสิ่งนั้นสามารถตอบสนองความต้องการ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ บุคคลทุกคนที่มีความต้องการหลายสิ่งหลายอย่างและมีความต้องการหลายระดับซึ่งหากได้รับการตอบสนองก็จะเกิดความพึงพอใจ
บังอร  ควรประสงค์ (ศุภาพร  วงศ์ใหญ่. 2547 : 39 ; อ้างอิงมาจาก บังอร  ควรประสงค์. 2544 : 46) ได้กล่าวว่าความพึงพอใจ หมายถึง ความรู้สึกหรือทัศนคติทางบวกของบุคคลที่มีต่อสิ่งหนึ่ง ซึ่งสิ่งนั้นสามารถตอบสนองให้แก่บุคคลนั้นได้ ความพึงพอใจย่อมมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของบุคคลที่ได้รับ
วราภรณ์  ช่วยนุกิจ (2544 : 8) ได้กล่าวความพึงพอใจ หมายถึง ความรู้สึกบวกของบุคคลที่มีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเนื่องมาจากความสำเร็จ ความประสงค์ที่ตนคาดหมายไว้ เป็นความรู้สึกที่ปรับเปลี่ยนได้เสมอขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สภาพแวดล้อม ช่วงเวลาในขณะนั้น ๆ ความพึงพอใจเป็นพลังแห่งการสร้างสรรค์ สามารถกระตุ้นให้เกิดความภูมิใจ มั่นใจ
อานนท์  กระบอกโท (2546 : 33) ได้สรุปความหมายของความพึงพอใจไว้ว่า ความ
พึงพอใจ หมายถึง ความรู้สึกหรือเจตคติที่มีต่อการทำงานนั้น เช่น ความรู้สึกรัก ความรู้สึกชอบภูมิใจสุขใจ เต็มใจและยินดี จะมีผลให้เกิดความพึงพอใจในการทำงาน มีการเสียสละ อุทิศแรงกายแรงใจ และสติปัญญาให้แก่งานอย่างแท้จริง
ได้มีนักวิชาการและนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของความพึงพอใจไว้ ดังนี้
ศุภสิริ โสมาเกตุ (2544 : 49) ได้สรุปความหมายของความพึงพอใจไว้ว่า ความพึงพอใจ หมายถึง ความรู้สึกนึกคิด หรือเจตคติของบุคคลที่มีต่อการทำงาน หรือการปฏิบัติกิจกรรมในเชิงบวก ดังนั้น ความพึงพอใจในการเรียน จึงหมายถึง ความรู้สึกพอใจ ชอบใจในการร่วมปฏิบัติกิจกรรมการเรียนการสอน และต้องการดำเนินการนั้น ๆ จนบรรลุ โดยที่ความพึงพอใจในการเรียนจะประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ ด้านเนื้อหา ด้านสื่อการเรียนรู้ และด้านการวัดและประเมินผล
ประยง คำประโคน (2542 : 39) ได้ให้ความหมายของความพึงพอใจไว้ว่า ความพึงพอใจ คือ ระดับความรู้สึกพึงพอใจโดยการได้บรรจุ หรือได้รับการตอบสนองในความต้องการ ความคาดหวัง ความปรารถนา ความอยากของบุคคล ซึ่งเป็นผลมาจากความชอบ ความสนใจ มีทัศนคติที่ดีต่อสถานการณ์นั้นหรือสิ่งใด ๆ และเห็นว่า สิ่งนั้นมีประโยชน์และมีคุณค่า
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2550 : 775) ได้ให้ความหมายของความพึงพอใจ ว่า หมายถึง พอใจ ชอบใจ
Good (1973 : 161) ได้ให้ความหมายไว้ว่า ความพึงพอใจ หมายถึง สภาพหรือระดับ
ความพึงพอใจที่เป็นผลมาจากความสนใจและและเจตคติของบุคคลที่มีต่องาน
Applewhite (1973 : 6) กล่าวว่า ความพึงพอใจ เป็นความรู้สึกส่วนตัวของบุคคลใน
การปฏิบัติงาน ซึ่งมีความหมายกว้างรวมไปถึงความพอใจในสภาพแวดล้อมทางกายภาพด้วย การมีความสุขที่ทำงานร่วมกับผู้อื่น ที่เข้ากันได้ มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานด้วย
Morse (1955 : 27) กล่าวว่า  ความพึงพอใจ หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถถอดความเครียดของผู้ทำงานได้ลดน้อยลง ถ้าเกิดความเครียดมากจะทำให้เกิดความไม่พอใจในการทำงาน และความเครียดนี้มีผลมาจากความต้องการของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีความต้องการมาก จะเกิดปฏิกิริยาเรียกร้องหาวิธีตอบสนอง ความเครียดก็จะลดน้อยลงหรือหมดไป ความพึงพอใจก็จะเพิ่มมากขึ้น
Gillmer (1965, 254 – 255  อ้างถึงใน  เพ็ญแข  ช่อมณี  2544, หน้า 6)  ได้ให้ความหมายไว้ว่าผลของเจตคติต่าง ๆ ของบุคคลที่มีต่อองค์กร  องค์ประกอบของแรงงาน และมีส่วนสัมพันธ์กับลักษณะงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานซึ่งความพึงพอใจนั้นได้แก่  ความรู้สึกมีความสำเร็จในผลงาน  ความรู้สึกว่าได้รับการยกย่องนับถือ  และความรู้สึกว่ามีความก้าวหน้าในการปฏิบัติงาน
Morse (1955, อ้างถึงใน  สันติ  ธรรมชาติ, หน้า 24)  ได้กล่าวว่า  ความพึงพอใจในงาน หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ลดความตึงเครียดของผู้ทำงานให้น้อยลง  ถ้ามีความตึงเครียดมากก็จะเกิดความไม่พึงพอใจในการทำงาน  ความตึงเครียดเป็นผลรวมจากความต้องการของมนุษย์  เมื่อคราวใดความต้องการได้รับการตอบสนองก็จะทำให้ความเครียดน้อยลง ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดความ
พึงพอใจ  จากคำนิยามของ
Morse
ทำให้มีนักวิชาการอีกหลายท่านได้ให้ความหมายไปในทิศทาง
ที่คล้ายคลึงกัน โดยเน้นว่าความพึงพอใจเกิดจากการได้รับการตอบสนอง เช่น
Hoy and Miskel กล่าวว่า ความพึงพอใจเป็นความรู้สึกที่ดีต่องานซึ่งมักเกี่ยวข้องกับคุณค่าและความต้องการของบุคคลด้วย  Dessler
อธิบายความพึงพอใจว่าเป็นระดับความรู้สึกต่องานเพื่อความต้องการที่สำคัญของคนเรา เช่น ความมีสุขภาพดี  มีความมั่นคง มีความสมบูรณ์พูนสุข มีพวกพ้อง มีคนยกย่อง
ต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับการตอบสนองแล้วทำให้มีผลต่องาน
Silmer (1984, 230 ; อ้างถึงใน  ประภาภรณ์  สุรปภา  2544, หน้า 9)  กล่าวไว้ว่า  ความ
พึงพอใจเป็นระดับขั้นตอนความรู้สึกในทางบวกหรือทางลบของคนที่มีลักษณะต่าง ๆ ของงานรวมทั้งงานที่ได้รับมอบหมาย  การจัดระบบงานและความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
Strauss (1980  อ้างถึงใน  เพ็ญแข  ช่อมณี  2544, หน้า 7)  ได้ให้ความหมายความพึงพอใจไว้ว่า  ความพึงพอใจหมายถึงความรู้สึกพอใจในงานที่ทำและเต็มใจที่จะปฏิบัติงานนั้นให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร  คนจะรู้สึกพอใจในงานที่ทำเมื่องานนั้นให้ผลประโยชน์ทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของเขาได้
ในการศึกษาเกี่ยวกับความพึงพอใจนั้น  โดยทั่วไปนิยมศึกษากันในสองมิติ คือ มิติ              ความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติงานและมิติความพึงพอใจในการรับบริการ  ในการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในรูปแบบผู้รับบริการ  ซึ่งมีนักการศึกษาได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้
Oskamps (1984, อ้างถึงใน  ประภาภรณ์  สุรปภา  2544, หน้า 11)  ได้กล่าวไว้ว่า  ความพึงพอใจมีความหมายอยู่ 3 นัย คือ
1.   ความพึงพอใจ  หมายถึง  สภาพการณ์ที่ผลการปฏิบัติจริงได้เป็นไปตามที่บุคคลคาดหวังไว้
2.   ความพึงพอใจ  หมายถึง  ระดับของความสำเร็จที่เป็นไปตามความต้องการ
3.   ความพึงพอใจ  หมายถึง  งานที่ได้ตอบสนองต่อคุณค่าของบุคคล
จากความหมายที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นผู้วิจัยสรุปได้ว่า  ความพึงพอใจ หมายถึง ความรู้สึกที่
จากความหมายของความพึงพอใจ พอสรุปได้ว่า ความพึงพอใจ หมายถึง ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นการยอมรับ  ความรู้สึกชอบ  ความรู้สึกที่ยินดีกับการปฏิบัติงาน ทั้งการให้บริการและการรับบริการในทุกสถานการณ์ ทุกสถานที่ อันเกิดจากพื้นฐานของการรับรู้ ค่านิยมและประสบการณ์ ระดับความพึงพอใจของบุคคลจะแตกต่างกันไป

แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับความพึงพอใจ

มีนักการศึกษาหลายท่านได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีความพึงพอใจไว้ ดังนี้
Maslow (1970 : 69) ได้อธิบายแนวคิดเกี่ยวกับความต้องการว่า มนุษย์เรามีความต้องการอยู่เสมอ ธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่อต้องการอย่างหนึ่ง ได้รับการตอบสนองหรือพึงพอใจแล้ว ก็จะมีความต้องการอย่างอื่นเข้ามาแทนที่ ความต้องการของคนเราอาจซ้ำซ้อนกัน คือ ความต้องการอย่างหนึ่งยังไม่หมด ความต้องการอีกอย่างหนึ่งก็อาจเกิดขึ้นได้ ลักษณะเฉพาะของมนุษย์ คือ การทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ปรารถนา นั่นคือ เมื่อใดมีความปรารถนาเกิดขึ้น ก็จะมีแรงขับและการกระทำที่ถูกปลุกเร้าแล้วก็เกิดความพึงพอใจขึ้น
มาสโลว์มีความเชื่อว่า การที่คนเราจะพัฒนาให้ตนเองได้บรรลถุถึงศักยภาพแห่งตนได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถสนองตอบต่อความต้องการในระดับต้นเสียก่อน ซึ่งตราบใดที่ความต้องการในระดับนั้นยังไม่ได้รับการตอบสนอง การที่จะบรรลุศักยภาพแห่งตนก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้ มาสโลว์ได้เสนอแนวคิดของการจัดลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์เป็น 5 ขั้น ดังนี้
1.    ความต้องการทางกายภาพ (Physiological needs) เป็นความต้องการระดับพื้นฐาน ได้แก่ ความต้องการอาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเพศ
2.    ความต้องการความปลอดภัยและความมั่นคง (Safety and security needs) ได้แก่ ความต้องการในสิ่งที่ทำให้รู้สึกมั่นคง คาดการณ์ได้ และมีขั้นตอนที่แน่นอน เมื่อใดที่เด็กรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย หรือไม่แน่ใจในสิ่งที่เกิดขึ้น จะเกิดความกลัว และถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความมั่นคงทางจิตใจ ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม
3.    ความต้องการความรักและความเป็นพวกเดียวกัน (Love and Belongingness needs) ได้แก่ ต้องการความรัก ความอบอุ่น การได้รับการยอมรับและการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
4.    ความต้องการรู้จักคุณค่าของตนเอง (Need for self-esteem) ได้แก่ ความต้องการยอมรับนับถือจากผู้อื่น ต้องการให้ผู้อื่นชื่นชม และมีความภาคภูมิใจในตนเอง
5.    ความต้องการบรรลุถึงศักยภาพแห่งตน (Needs for self actualization) เป็นความต้องการขั้นสูงสุดของมนุษย์ ได้แก่ ความต้องการประสบผลสำเร็จในทุกอย่างตามความคาดหวัง เพื่อพัฒนาตนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีความเป็นตัวของตัวเอง และมีอารมณ์ขันในระดับสูง
Skinner (1971 : 96-120) ได้อ้างคำกล่าวของ Jean-aeques Roussau ที่แสดงความคิดในแนวเดียวกันจากหนังสือเอมิล” (Emile) โดยให้ข้อคิดแก่ครูว่า จงทำให้เด็กเกิดความเชื่อว่าเขาอยู่บนความควบคุมของตัวเขาเอง แม้ว่าผู้ควบคุมที่แท้จริงคือครู ไม่มีวิธีการใดดีไปกว่าการให้เขาได้แสดงความรู้สึกว่าเขามีอิสรเสรีภาพ ด้วยวิธีนี้ คนจะมีกำลังใจด้วยตนเอง ครูควรปล่อยให้เด็กทำเฉพาะสิ่งที่เขาอยากทำ แต่เขาคงจะอยากทำในสิ่งที่ครูต้องการให้เขาทำเท่านั้น
Scott (1970 : 124) ได้เสนอแนวคิดในการจูงใจต่อการทำงานที่จะเกิดผลเชิงปฏิบัติ มีลักษณะ ดังนี้
1.   งานควรมีส่วนสำคัญกับความปรารถนาส่วนตัว งานนั้นจะมีความหมายสำหรับผู้ทำ
2.   งานนั้นต้องมีการวางแผนและวัดความสำเร็จได้ โดยใช้ระบบการทำงานและการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ
3.   เพื่อให้ได้ผลในการสร้างสิ่งจูงใจภายในเป้าหมายของงานจะต้องมรลักษณะ ดังนี้
3.1  คนทำงานมีส่วนในการตั้งเป้าหมาย
3.2  ผู้ปฏิบัติได้รับทราบผลสำเร็จในการทำงานโดยตรง
3.3  งานนั้นสามารถทำให้สำเร็จได้
จากแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน นักเรียนมีส่วนเลือกเรียนตามความสนใจ และมีโอกาสร่วมกันตั้งจุดประสงค์หรือความมุ่งหมายในการทำกิจกรรมได้เลือกวิธีแสวงหาความรู้ด้วยวิธีที่ผู้เรียนถนัดและสามารถค้นหาคำตอบได้
ศุภสิริ โสมาเกตุ (2544 : 155) ได้ให้แนวคิดว่า ในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น ความพึงพอใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนทำให้ที่ได้รับมอบหมายหรือต้องการปฏิบัติกิจกรรมให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ครูผู้สอนซึ่งในสภาพปัจจุบันเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกหรือให้คำแนะนำปรึกษา จึงต้องคำนึงถึงความพึงพอใจในการเรียน การทำให้ผู้เรียนเกิดความพึงพอใจในการเรียนหรือการปฏิบัติงาน มีแนวคิดพื้นฐานที่ต่างกัน 2 ลักษณะ คือ
1.    ความพึงพอใจนำไปสู่การปฏิบัติงาน
        การตอบสนองความต้องการของผู้ปฏบัติงานจนเกิดความพึงพอใจ จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่สูงกว่าผู้ไม่ได้รับการตอบสนอง จากแนวคิดนี้ ครูผู้สอนที่ต้องการให้กิจกรรมการเรียนรู้บรรลุผลสำเร็จ จึงต้องคำนึงถึงการจัดบรรยากาศและสถานการณ์ รวมทั้งสื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้เรียน ให้มีแรงจูงใจในการทำกิจกรรมจนบรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
2.    ผลของการปฏิบัติงานที่นำไปสู่ความพึงพอใจ
        ความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจ และผลการปฏิบัติงานจะถูกเชื่อมโยงด้วยปัจจัยอื่น ๆ ผลการปฏิบัติงานที่ดีจะนำไปสู่ผลตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การตอบสนองความพึงพอใจ ผลการปฏิบัติงานย่อมได้รับการตอบสนองในรูปของรางวัล หรือผลตอบแทน ซึ่งแบ่งออกเป็น ผลตอบแทนภายใน (Intrinsic rewards) และผลตอบแทนภายนอก (Extrinsic rewards) โดยผ่านการรับรู้เกี่ยวกับความยุติธรรมของผลตอบแทน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ ปริมาณของผลตอบแทนที่ผู้ปฏิบัติที่ได้รับ นั่นคือ ความพึงพอใจในของผู้ปฏิบัติงานจะถูกกำหนดโดยความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนที่เกิดขึ้น และการรับรู้เรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรมของผลตอบแทนที่รับรู้แล้ว ความพึงพอใจย่อมเกิดขึ้น
แนวคิดนี้ นำมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยคำนึงผลตอบแทนหรือรางวัลภายใน ซึ่งเป็นผลด้านความรู้สึกของผู้เรียนที่เกิดขึ้น เช่น ความรู้สึกต่อความสำเร็จที่ได้รับจากการเอาชนะความยุ่งยากต่าง ๆ และสามารถดำเนินงานหรือปฏิบัติกิจกรรมที่ยุ่งยากได้สำเร็จ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ มีความมั่นคงและได้รับการยกย่องจากบุคคลอื่น ส่งผลตอบแทนภายนอกเป็นรางวัลที่ได้จากผู้อื่น เช่น ได้รับการยกย่องชมเชยจากครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งการให้คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับที่น่าพอใจ
จากการศึกษาทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับความพึงพอใจที่กล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า ผู้ปฏิบัติงานจะเกิดความพึงพอใจต่อการทำงานมากน้อย ขึ้นอยู่กับสิ่งจูงใจในการทำงาน ในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน การที่ผู้เรียนเกิดความพึงพอใจในการเรียนนั้น ผู้เรียนจะต้องมีแรงจูงใจที่อยากเรียน ซึ่งผู้สอนต้องคำนึงถึงสิ่งที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจหลาย ๆ ด้าน เช่น การจัดบรรยากาศ สถานการณ์ เทคนิคการสอน การยกย่องชมเชย การให้รางวัล การทำให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง การได้รับการยอมรับจากผู้อื่น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดี จะทำให้ผู้เรียนมีความพึงพอใจในการเรียนหรือการปฏิบัติงาน

การวัดความพึงพอใจ

สาโรช ไสยสมบติ (2534 : 39) กล่าวว่า การวัดความพึงพอใจสามารถกระทำได้หลายวิธี ได้แก่
1.    การใช้แบบสอบถาม โดยผู้สอบถามจะออกแบบแบบสอบถาม เพื่อต้องการทราบความคิดเห็น ซึ่งสามารถทำได้ในลักษณะที่กำหนดคำตอบให้เลือก หรือตอบคำถามอิสระ คำถามดังกล่าวอาจถามความพึงพอใจในด้านต่าง ๆ
2.    การสัมภาษณ์ เป็นวิธีวัดความพึงพอใจทางตรงทางหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยเทคนิคและวิธีการที่ดี จึงจะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงได้ การวัดความพึงพอใจโดยวิธีสัมภาษณ์นับเป็นวิธีการที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพมากอีกวิธีหนึ่ง
3.    การสังเกต เป็นวิธีการวัดความพึงพอใจโดยสังเกตพฤติกรรมของบุคคล เป้าหมาย ไม่ว่าจะแสดงออกจากการพูด กิริยาท่าทาง วิธีนี้ต้องอาศัยการกระทำอย่างจริงจังและการสังเกตอย่างมีระเบียบแบบแผน
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การวัดความพึงพอใจนั้น เราสามารถที่จะวัดได้หลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวก ความเหมาะสม ตลอดจนจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายของการวัดด้วย จึงจะส่งผลให้การวัดความพึงพอใจนั้นมีประสิทธิภาพเป็นที่น่าเชื่อถือได้
Bemard (1968  อ้างถึงใน  อำนวย  บุญศรี, 2531)  ได้กล่าวถึง  สิ่งจูงใจที่ใช้เป็นเครื่องกระตุ้นบุคคลให้เกิดความพึงพอใจในงานไว้ 8 ประการ คือ
1.   สิ่งจูงใจที่เป็นวัตถุ  ได้แก่  เงิน  สิ่งของ หรือสภาวะทางกายที่ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานเป็นการตอบแทน ชดเชย หรือเป็นรางวัลที่เขาได้ปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานนั้นมาเป็นอย่างดี
2.   สิ่งจูงใจที่เป็นโอกาสของบุคคลที่มิใช่วัตถุ  เป็นสิ่งจูงใจสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือในการทำงานมากกว่ารางวัลที่เป็นวัตถุ เพราะสิ่งจูงใจที่เป็นโอกาสนี้บุคลากรจะได้รับแตกต่างกัน เช่น เกียรติภูมิ  การใช้สิทธิพิเศษ เป็นต้น
3.   สภาพทางกายที่พึงปรารถนา  หมายถึง  สิ่งแวดล้อมในการปฏิบัติงาน ได้แก่ สถานที่ทำงาน  เครื่องมือการทำงาน  สิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานต่าง ๆ  ซึ่งเป็นสิ่งอันก่อให้เกิดความสุขทางกายในการทำงาน
4.   ผลประโยชน์ทางอุดมคติ  หมายถึง  สมรรถภาพของหน่วยงานที่สนองความต้องการของบุคคลด้านความภาคภูมิใจที่ได้แสดงฝีมือ  การได้มีโอกาสช่วยเหลือครอบครัวตนเองและผู้อื่น ทั้งได้แสดงความภักดีต่อหน่วยงาน
5.   ความดึงดูดใจในสังคม  หมายถึง  ความสัมพันธ์ฉันท์มิตร ถ้าความสัมพันธ์เป็นไปด้วยดีจะทำให้เกิดความผูกพันและความพอใจที่จะร่วมงานกับหน่วยงาน
6.   การปรับสภาพการทำงานให้เหมาะสมกับวิธีการและทัศนคติของบุคคล  หมายถึง  การปรับปรุงตำแหน่งวิธีทำงานให้สอดคล้องกับความสามารถของบุคลากร
7.   โอกาสที่จะร่วมมือในการทำงาน  หมายถึง  การเปิดโอกาสให้บุคลากรรู้สึกว่ามีส่วนร่วมในงานเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของหน่วยงาน  มีความรู้สึกเท่าเทียมกันในหมู่ผู้ร่วมงานและมีกำลังใจในการปฏิบัติงาน
8.   สภาพของการอยู่ร่วมกัน  หมายถึง  ความพอใจของบุคคลในด้านสังคมหรือความมั่นคงในการทำงาน
Herzberg (1959,  อ้างถึงใน  เพ็ญแข  ช่อมณี, 2544 : หน้า 19)  ได้ศึกษาทดลองเกี่ยวกับการจูงใจในการทำงานโดยการสัมภาษณ์วิศวกรในเมืองพิทส์เบอร์ก  ประเทศสหรัฐอเมริกา   ผลการศึกษาทดลอง สรุปได้ว่า  สาเหตุที่ทำให้วิศวกรและนักบัญชีเกิดความพึงพอใจและไม่พึงพอใจในการทำงานนั้นมีสององค์ประกอบคือ
1.   องค์ประกอบกระตุ้น  (Motivation Factors)  หรือปัจจัยจูงใจ  มีลักษณะสัมพันธ์กับเรื่องของงานโดยตรง  เป็นสิ่งที่จูงใจบุคคลให้มีความตั้งใจในการทำงานและเกิดความพอใจในการทำงาน  ปัจจัยนี้ได้แก่
1.1  ความสำเร็จของงาน  หมายถึง  การที่บุคคลสามารถทำงานได้เสร็จสิ้นและประสบผลสำเร็จ
1.2  การได้การยอมรับนับถือ  หมายถึง  การที่บุคคลได้รับการยอมรับนับถือไม่ว่าจากกลุ่มเพื่อน  ผู้บังคับบัญชา หรือจากกลุ่มบุคคลอื่น
1.3  ลักษณะของงาน  หมายถึง  ความรู้สึกที่ดีหรือไม่ดีของบุคคลที่มีต่อลักษณะของงาน
1.4  ความรับผิดชอบ  หมายถึง  ความพึงพอใจที่เกิดขึ้นจากการที่ได้รับการมอบหมายให้รับผิดชอบงานใหม่ ๆ และมีอำนาจรับผิดชอบอย่างเต็มที่
1.5  ความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน  หมายถึง  การเปลี่ยนแปลงในสถานะหรือตำแหน่งของบุคลากรในองค์กร
2.   องค์ประกอบค้ำจุน (Hygine Factors) หรือปัจจัยค้ำจุน เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในการทำงานหรือส่วนประกอบของงาน ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้คนเกิดความไม่พึงพอใจในการทำงาน กล่าวคือ หากขาดปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เกิดความไม่พึงพอใจในการทำงานแต่แม้ว่าจะมีปัจจัยเหล่านี้อยู่ก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นสิ่งจูงใจของผู้ปฏิบัติงาน  ปัจจัยนี้ได้แก่
2.1  เงินเดือน  หมายถึง  ความพึงพอใจและไม่พึงพอใจในเงินเดือนหรืออัตราการเพิ่มเงินเดือน
2.2  โอกาสที่จะได้รับความก้าวหน้าในอนาคตนอกจากจะหมายถึง  การที่บุคคลได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งภายในองค์กรแล้ว  ยังหมายถึงสถานการณ์ที่บุคคลสามารถได้รับความก้าวหน้าในทักษะหรือวิชาชีพของเขา  ดังนั้นจึงหมายถึงการที่บุคคลได้รับสิ่งใหม่ ๆ ในการเพิ่มพูนทักษะที่จะช่วยเอื้อต่อวิชาชีพของเขา
2.3  ความสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชา  หมายถึง  การติดต่อไม่ว่าจะเป็นกิริยาหรือวาจาที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
2.4  สถานะของอาชีพ  หมายถึง  ลักษณะของงานหรือสถานะที่เป็นองค์ประกอบทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกต่องาน เช่น การมีรถประจำตำแหน่ง เป็นต้น
2.5  ความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา  หมายถึง  การติดต่อพบปะกัน  โดยกิริยาหรือวาจาแต่มิได้รวมถึงการยอมรับนับถือ
2.6  นโยบายและการบริหารงานขององค์กร  หมายถึง  การจัดการและการบริหารงานขององค์กร
2.7  ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
2.8  สถานภาพการทำงาน  ได้แก่  สถานภาพทางกายภาพที่เอื้อต่อความเป็นสุขในการทำงาน
2.9  ความเป็นส่วนตัว  หมายถึง  สถานการณ์ซึ่งลักษณะบางประการของงานส่งผลต่อชีวิตส่วนตัวในลักษณะของผลงานนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้บุคคลมีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งต่องานของเขา
2.10  ความมั่นคงในงาน  หมายถึง  ความรู้สึกของบุคคลที่มีความมั่นคงของงานความมั่นคงในองค์กร
2.11  วิธีการปกครองบังคับบัญชา  หมายถึง  ความรู้ความสามารถของผู้บังคับบัญชาในการดำเนินงานหรือความยุติธรรมในการบริหารงาน
สรุปได้ว่า  ปัจจัยจูงใจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน  ส่วนปัจจัยค้ำจุนจะเป็นปัจจัยที่ป้องกันไม่ให้บุคคลเกิดความเบื่อหน่ายหรือรู้สึกไม่พอใจในการทำงานซึ่งทฤษฎีสององค์ประกอบของ Herzberg นี้เชื่อว่าการสนองความต้องการของมนุษย์แบ่งเป็น 2 องค์ประกอบ คือ  องค์ประกอบที่ 1 หรือปัจจัยจูงใจที่สร้างความพึงพอใจ  เป็นความต้องการขั้นสูงประกอบด้วยลักษณะงาน  ความสำเร็จของงาน  การยอมรับนับถือ  การได้รับการยกย่องและสถานภาพ ส่วนองค์ประกอบที่ 2 หรือปัจจัยค้ำจุน หรือองค์ประกอบที่สร้างความไม่พึงพอใจ  เป็นความต้องการขั้นต่ำ  ประกอบด้วยสภาพการทำงาน  การบังคับบัญชา  ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  นโยบายและการบริหารงาน  ความมั่นคงในงานและเงินเดือน  ไม่เป็นการสร้างเสริมบุคคลให้ปฏิบัติดีขึ้นแต่ต้องดำรงรักษาไว้เพื่อความพึงพอใจในขั้นสูงต่อไป