ค้นหาบล็อกนี้

ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์

ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มคอนสตรัคติวิสซึม

ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist Theory)  เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยการสร้างความรู้มีพัฒนาการมาจากปรัชญาปฏิบัตินิยม  (Pragmatism)  ที่นำโดยเจมส์ (James)  และดิวอี้ (Dewey)ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์เกี่ยวกับวิธีการหาความรู้ในปรัชญาวิทยาศาสตร์  (Philosophy  of  Science)  ที่นำโดย  ปอปเปอร์ (Popper)  และเฟเยอราเบนด์(Feyerabend)  ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20  จากการบุกเบิกของนักจิตวิทยาคนสำคัญ ๆ เช่น เพียเจต์  (Piaget)  ออซูเบล  (Ausubel)  และเคลลี่ (Kelly)  และพัฒนาต่อมาโดยนักการศึกษากลุ่มคอนสตรัคติวิสต์  (The (Constructivism)  เช่น  ไดรเวอร์ (Driver) เบล (Bell)  คามี (Kamil) นอดดิงส์ (Noddings) วอน  เกลเซอร์สเฟลด์  (Von  Giasersfeld)  เฮนเดอร์สัน (Henderson) และอันเอดร์ฮิล (Underhill) เป็นต้น (สุมาลี  ชัยเจริญ  :  2551 102 อ้างอิงมาจาก ไพจิตร  สดวกการ : 2543)
ไพจิตร  สดวกการ (2543)  กล่าวไว้ว่า  จากการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับคอนสตรัคติวิสต์
ดังนี้
1.  ความรู้ของบุคคลใด คือโครงสร้างทางปัญญาของบุคคลนั้นที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์ในการคลี่คลายสถานการณ์ที่เป็นปัญหา และสามารถนำไปใช้เป็นฐานในการแก้ปัญหาหรืออธิบายสถานการณ์อื่น ๆ ได้
2.  ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยวิธีการที่ต่าง ๆ กันโดยอาศัยประสบการณ์และโครงสร้างทางปัญญาที่มีอยู่เดิม  ความสนใจและแรงจูงใจภายในตนเองเป็นจุดเริ่มต้น
3.  ครูมีหน้าที่จัดการให้ผู้เรียนได้ปรับขยายโครงสร้างทางปัญญาของตนเอง  ภายใต้
ข้อสมมติฐานต่อไปนี้
3.1  สถานการณ์ที่เป็นปัญหาและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม  ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญา
3.2  ความขัดแย้งทางปัญญาเป็นแรงจูงใจภายในทำให้เกิดกิจกรรมการไตร่ตรองเพื่อขจัดความขัดแย้งนั้น Dewey  ได้อธิบายเกี่ยวกับลักษณะการไตร่ตรอง  (Reflection)  เป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบ  กิจกรรมการไตร่ตรองจะเริ่มต้นด้วยสถานการณ์ที่เป็นปัญหาน่าสงสัยงงงวย  ยุ่งยาก  ซับซ้อน เรียกว่า  สถานการณ์ก่อนไตร่ตรอง และจะจบลงด้วยความแจ่มชัด ที่สามารถอธิบายสถานการณ์ดังกล่าว  สามารถแก้ปัญหาได้ตลอดจนได้เรียนรู้และพึงพอใจกับผล
ที่ได้รับ
3.3  การไตร่ตรองบนฐานแห่งประสบการณ์และโครงสร้างทางปัญญาที่อยู่เดิมภายใต้การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม  กระตุ้นให้มีการสร้างโครงสร้างใหม่ทางปัญญา
สุมาลี  ชัยเจริญ  (2551 : 102-105)  กล่าวไว้ว่า  กลุ่มคอนสตรัคติวิสต์  (Constructivism) เชื่อว่า  การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในของผู้เรียน  โดยมีผู้เรียนเป็นผู้สร้าง (Construct)  ความรู้จากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่พบเห็นกับความรู้ความเข้าใจเดิมที่มีมาก่อน  โดยพยายามนำความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์และปรากฏการณ์ที่ตนพบเห็นมาสร้างเป็นโครงสร้างทางปัญญา หรือที่เรียกว่า  สกีมา (Schema) ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของโครงสร้างทางปัญญา  หรือโครงสร้างของความรู้ในสมอง  โครงสร้างทางปัญญานี้จะประกอบด้วย  ความหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่ใช้ภาษา หรือเกี่ยวกับเหตุการณ์  หรือสิ่งที่แต่ละบุคคลมีประสบการณ์  หรือเหตุการณ์อาจเป็นความเข้าใจหรือความรู้ของแต่ละบุคคล  คอนสตรัคติวิสต์  เชื่อว่า  การเรียนรู้เป็นกระบวนการสร้างมากกว่าการรับรู้ความรู้  ดังนั้น  เป้าหมายของการสอนจะสนับสนุนการสร้างมากกว่าความพยายามในการถ่ายทอดความรู้  ดังนั้นคอนสตรัคติวิสต์  จะมุ่งเน้นการสร้างความรู้ใหม่อย่างเหมาะสมของแต่ละบุคคลและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญในการสร้างความหมายตามความเป็นจริง (Duffy and Cunningham. 1996)  เป็นวิธีการที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนหลักการที่สำคัญว่า ในการเรียนรู้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนลงมือกระทำในการสร้างความรู้  ซึ่งปรากฏแนวคิดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการสร้างความรู้หรือการเรียนรู้  ทั้งนี้เนื่องมาจากแนวคิดที่เป็นรากฐานสำคัญที่ปรากฏจากรายงานของนักจิตวิทยาและนักการศึกษา คือ  Jean  Piaget ชาวสวิส  และ Lev  Vygotsky ชาวรัสเซีย  ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท  คือ Cognitive Constructivism และ  Social  Constructivism ดังมีรายละเอียด ดังนี้
1.  Cognitive Constructivism  มีรากฐานทางปรัชญาของทฤษฎีมาจากความพยายามที่จะเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่  ด้วยกระบวนการที่พิสูจน์อย่างมีเหตุผลเป็นความรู้ที่เกิดจากการไตร่ตรอง  ซึ่งถือเป็นปรัชญาปฏิบัตินิยม ประกอบกับรากฐานทางจิตวิทยาการเรียนรู้ที่มีอิทธิพลต่อพื้นฐานแนวคิดนี้  นักจิตวิทยาพัฒนาการชาวสวิส คือ จีน เพียเจต์ (Jean  Piaget)  ทฤษฎีของ Piaget  จะแบ่งได้เป็น  2  ส่วน คือ  Ages และ Stages  ซึ่งทั้งสององค์ประกอบนี้จะทำนายว่าเด็กจะสามารถหรือไม่สามารถเข้าใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดเมื่อมีอายุแตกต่างกันและทฤษฎีเกี่ยวกับด้านพัฒนาการที่จะอธิบายว่า  ผู้เรียนจะพัฒนาความสามารถทางการรู้คิด (Cognitive  Abilities)  ทฤษฎีพัฒนาการที่จะเน้นจุดดังกล่าว  เพราะว่าเป็นพื้นฐานหลักสำหรับวีการทาง  Cognitive Constructivism  ทางด้านการเรียนการสอนนั้นมีแนวคิดว่ามนุษย์เราต้องสร้าง (Construct) ความรู้ด้วยตนเองโดยผ่านทางประสบการณ์  ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้จะกระตุ้นให้ผู้เรียนสร้างโครงสร้างทางปัญญา  หรือเรียกว่า สกีมา (Schemas) แมนทอลโมเดล (Mental  Model)  ในสมอง  สกีมาเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Change)  ขยาย (Entarge) และซับซ้อนขึ้นได้  โดยผ่านทางกระบวนการดูดซึม (Assimilation) และการปรับเปลี่ยน(Accommodation)
สิ่งสำคัญที่สามารถสรุปอ้างอิงของทฤษฎีเพียเจต์ก็คือ  บทบาทของครูผู้สอนในห้องเรียนตามแนวคิดของเพียเจต์  บทบาทที่สำคัญคือ  การจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมที่ให้ผู้เรียนได้สำรวจ ค้นหา  ตามธรรมชาติห้องเรียนควรเติมสิ่งที่น่าสนใจที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนเป็นสร้างความรู้ด้วยตนเองอย่างตื่นตัวโดยการขยาย  สกีมา  ผ่านทางประสบการณ์ด้วยวิธีการดูดซึมและการปรับเปลี่ยน  ซึ่งเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจากการปรับเข้าสู่สภาวะสมดุลระหว่างอินทรีย์และสิ่งแวดล้อม  โดยมีประบวนการดังนี้
1.  การดูดซึมเข้าสู่โครงสร้างทางปัญญา  (Assimilation)  เป็นการตีความหรือรับข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมมาปรับเข้ากับโครงสร้างทางปัญญา
2.  การปรับโครงสร้างทางปัญญา  (Accommodation)  เป็นความสามารถในการปรับโครงสร้างทางปัญญาให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยการเชื่อมโยงระหว่างความรู้เดิมและสิ่งที่ต้องเรียนใหม่
วัฒนาพร  ระงับทุกข์  (2541)  กล่าวว่า ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์มีรากฐานความเชื่อมาจากการพัฒนาทางด้านพุทธิปัญญา (Cognitive Development)  ที่ว่าความรู้เกิดจากประสบการณ์และกระบวนการในการสร้างความรู้หรือเกิดจากการกระทำ  โดยผู้ที่เรียนสร้างเสริมความรู้ผ่านกระบวนการทางจิตวิทยาด้วยตนเอง  ครูผู้สอนไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญาของผู้เรียนได้  แต่สามารถช่วยให้ผู้เรียนปรับขยายโครงสร้างทางปัญญา  โดยการจัดสภาพการณ์ที่ทำให้เกิดภาวะเสียสมดุล  หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญาขึ้น  ซึ่งก็คือสภาวะที่โครงสร้างทางปัญญาเดิมใช้ไม่ได้ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับประสบการณ์มากขึ้นหรือเกิดโครงสร้างทางปัญญาใหม่นั่นเอง
ทิศนา  แขมมณี (2544)  กล่าวไว้ว่า  ทฤษฎีนี้เชื่อว่า  สิ่งต่าง ๆ ในโลกที่มีอยู่จริงนั้นความหมายของสิ่งต่าง ๆ  นั้นไม่มีอยู่ในตัวของมันเอง  แต่จะขึ้นกับการให้ความหมายของแต่ละบุคคล ดังนั้น  ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์จึงให้ความสำคัญกระบวนการและวิธีการของบุคคล  ในการแปลความหมาย  และสร้างความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์  และถือว่ากระบวนการในสมองหรือภายในเป็นสิ่งสำคัญที่แต่ละบุคคลใช้ในการแปลความหมายของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในโลกนี้ซึ่งการแปลความหมายของแต่ละบุคคลจะขึ้นอยู่กับการรับรู้  ประสบการณ์  ความเชื่อ  อาจกล่าวได้ว่าผู้เรียนจะไม่เพียงแต่รับข้อมูล  ความรู้เท่านั้น  แต่จะต้องจัดกระทำกับข้อมูล  ความรู้ หรือประสบการณ์ต่าง ๆ และสร้างความหมายหรือสร้างความรู้ขึ้นมาด้วยตนเอง
สุมาลี  ชัยเจริญ (2545) Social Constructivism เป็นทฤษฎีที่มีราฐานมาจาก Lev  Vygotsky ซึ่งเป็นแนวคิดที่สำคัญที่ว่า ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านปัญญา  รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับศักยภาพในการพัฒนาด้านพุทธิปัญญาที่อาจมีข้อจำกัดเกี่ยวกับช่องของการพัฒนาที่เรียกว่าZone  of  Proximal  Development  ถ้าผู้เรียนอยู่ต่ำกว่าโซนดังกล่าวก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือในการเรียนรู้ที่เรียกว่า  Scaffolding และเชื่อว่าผู้เรียนสร้างความรู้โดยผ่านทางการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น ได้แก่ เด็ก  กับผู้ใหญ่  พ่อแม่  ครู และเพื่อน ในขณะที่เด็กอยู่ในบริบทของสังคมและวัฒนธรรม  (Sociacultural Context)  สำหรับแนวคิดสำคัญของทฤษฎีคอนสรัตรติวิสต์ มีดังนี้ 
1.   ความรู้  คือ  โครงสร้างทางปัญญาที่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ที่เป็นปัญหาและใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาหรืออธิบายสถานการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้
2.   นักเรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยวิธีต่าง ๆ กัน โดยอาศัยประสบการณ์เดิมหรือโครงสร้างทางปัญญาที่มีอยู่เดิม  ความสนใจและแรงจูงใจภายในตนเองเป็นจุดเริ่มต้น
3.   ครูมีหน้าที่จัดการให้นักเรียนได้ปรับขยายโครงสร้างทางปัญญาของนักเรียนเอง  ภายใต้สมมติฐานดังนี้
3.1  สถานการณ์ที่เป็นปัญหาและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญา
3.2  ความขัดแย้งทางปัญญาเป็นแรงจูงใจภายในให้เกิดกิจกรรมการไตร่ตรองเพื่อขจัดความขัดแย้งนั้น
3.3  การไตร่ตรองบนฐานแห่งประสบการณ์และโครงสร้างทางปัญญาที่มีอยู่ภายใต้การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม  กระตุ้นให้มีการสร้างโครงสร้างใหม่ทางปัญญา
วิมลรัตน์  สุนทรโรจน์ (2551 : 154)  ได้กล่าวถึง  แนวคิดของทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivism) ว่า  เป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีกระบวนการเกิดขึ้นภายในบุคคล  บุคคลเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยเหตุผลจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่พบเห็นกับความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิม  เกิดเป็นโครงสร้างทางปัญญา  ผู้สอนไม่สามารถปรับเปลี่ยนปัญญาของผู้เรียนได้แต่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญาได้  โดยจัดสภาพการณ์ให้ผู้เรียนเกิดความขัดแย้งทางปัญญา หรือเกิดภาวะไม่สมดุลทางปัญญาขึ้น  ซึ่งเป็นสภาวะที่ประสบการณ์ใหม่ไม่สอดคล้องกับประสบการณ์เดิม  ผู้เรียนต้องพยายามปรับข้อมูลใหม่กับประสบการณ์ที่มีอยู่เดิม  แล้วสร้างเป็นความรู้ใหม่  การเรียนการสอนตามแนวคิด Constructivism  ครูผู้สอนจะต้องมีบทบาท  ดังนี้
1.   เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสังเกต  สำรวจเพื่อให้เห็นปัญหา
2.   มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน เช่น แนะนำถามให้คิด  เพื่อให้ผู้เรียนค้นพบหรือสร้างความรู้ด้วยตนเอง
3.   ช่วยพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการคิดค้นต่อ ๆ ไป  ให้มีการทำงานเป็นกลุ่ม  พัฒนาให้ผู้เรียนมีประสบการณ์กว้างไกล
4.   ประเมินความคิดรวบยอดของผู้เรียน  ตรวจสอบความคิดและทักษะการคิดต่าง ๆ  การปฏิบัติ การแก้ปัญหาและพัฒนา  และการเคารพความคิดและเหตุผลของคนอื่น ๆ ตามแนวคิดนี้ผู้เรียนสามารถสร้างสรรค์ความรู้ได้หากมีการจัดการศึกษาที่เอื้ออำนวยในบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดและสร้างสรรค์ด้วยตนเอง กระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้อย่างมีพลัง  เมื่อผู้เรียนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์ด้วยตนเองและได้เห็นผลงานของตนเอง  มีความหมายและสร้างความพึงพอใจส่วนตัว  อันจะเป็นแรงจูงใจที่ดีสำหรับผู้เรียน  โอกาสในการเลือกเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดความพึงพอใจ  ยิ่งผู้เรียนมีทางเลือกมากขึ้นเท่าไร  โอกาสที่จะเกิดความอยากลงมือทำก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น  และหากผู้เรียนสนใจทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งอย่างจริงจัง  โอกาสที่ผู้เรียนจะได้ความรู้ใหม่ๆ ยิ่งมีมากขึ้น
บรูเนอร์ (Bruner, 1915;  อ้างถึงใน สุรางค์ โค้วตระกูล, 2541 : 212) ได้กล่าวถึง การเรียนรู้จะเกิดขึ้นก็เพราะนักเรียนมีโอกาสกระทำด้วยตนเอง ประกอบด้วย 1. การได้มาซึ่งความรู้(Acquisition of Knowledge) เป็นกระบวนการที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา (Active) 2. นักเรียนหรือบุคคลแต่ละคนจะต้องเป็นผู้สร้าง (Construct) ความรู้ นอกจากนี้ บรูเนอร์ ได้ให้หลักการพื้นฐานของตัวแปรที่สำคัญของการสอนและการเรียนรู้ดังนี้
1.   บุคคลแต่ละคนมี วัฒนธรรมของตนเพราะตั้งแต่แรกเกิดทุกคนได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากผู้ใหญ่ที่อยู่รอบๆ เช่น บิดามารดา เป็นต้น
2.   ความรู้คืออำนาจ ครูควรจะให้เครื่องมือ (ทักษะ) แก่นักเรียนที่จะใช้แก้ปัญหาหรือหาคำตอบได้ การศึกษาควรจะเน้นความสำคัญของวิชาทุกอย่าง ไม่เฉพาะแต่วิชานี้ยังมีคำตอบไม่สมบูรณ์ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ ที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและเกี่ยวกับมนุษย์ ซึ่งมีปัญหาหลายชนิดที่ยังไม่มีคำตอบ แต่ควรจะศึกษาวิชาที่เกี่ยวข้องด้วยทั้งหมด เช่น วิชาศิลปะ วรรณคดี คณิตศาสตร์ และตรรกวิทยา
3.   กระบวนการที่จะได้มาซึ่งความรู้สำคัญมาก บรูเนอร์ กล่าวว่าการเรียนรู้ ที่ได้มาซึ่งความรู้ ประกอบด้วยกระบวนการ 3 อย่าง คือ
3.1 การเรียนรู้เกิดจากกระบวนการเปรียบเทียบความรู้ที่ได้มาหรือรับจากข้อมูลข่าวสารหรือสารสนเทศใหม่ๆ กับสิ่งที่มีอยู่แล้วและปรับปรุงให้ดีขึ้น
3.2 การเรียนรู้เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปร (Transform) ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาให้เข้ากับสิ่งที่มีอยู่
3.3 กระบวนการประเมินความสำคัญของความรู้ที่ได้รับใหม่ ว่าเหมาะสม กับงานที่ทำอยู่หรือไม่ การประเมินต้องอาศัยการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
บรูเนอร์ ได้กล่าวถึงการสอนให้เกิดการจัดการเรียนการสอนโดยการค้นพบแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. การค้นพบที่ไม่กำหนดโครงสร้าง (Unstructured Discovery) หมายถึง การสอนแบบเปิดโอกาสให้นักเรียนค้นพบเอง โดยครูจัดสิ่งแวดล้อมของนักเรียนให้เหมาะสม มีสิ่งที่ท้าทายความสนใจต่างๆ
2. การค้นพบที่มีการชี้แนะ (Guided Discovery) หมายถึง การสอนที่ครูจัดวัตถุประสงค์ของหัวข้อที่จะให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ และจัดสรรหาข้อมูลข่าวสารที่จะช่วยให้นักเรียนค้นพบ พร้อมกับการใช้คำถามถามนักเรียน สอดคล้องกับผลการวิจัยของเบย์และผู้ร่วมงาน (Bay et al 1992) เกี่ยวกับการเรียนรู้โดยการค้นพบ พบว่า การค้นพบที่ไม่กำหนดโครงสร้าง มักจะไม่ช่วยนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ตามความคาดหวังของครู หรือตามวัตถุประสงค์ของ บทเรียนที่ตั้งไว้ นักเรียนมักจะมีความคับข้องใจเพราะไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร สำหรับการสอนนักเรียนโดยการค้นพบที่มีการแนะนำเป็นการสอนที่ได้ผลดีกว่าการสอนที่ครูใช้โดยทั่วไปคือมีครูเป็นศูนย์กลางถึง4 เท่า นอกจากนี้ผู้วิจัยพบว่าการสอน โดยการค้นพบทำให้นักเรียนเป็นผู้มีความรับผิดชอบในการเรียนรู้ ครูและนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และเพิ่มทักษะในการคิดของ นักเรียนมีหลักการสอนโดยการค้นพบ คือ นักเรียนเป็นผู้รับผิดชอบในการเรียนรู้ มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนและเพิ่มทักษะในการคิดของนักเรียน
ออซุเบล (Ausubel, 1978; อ้างถึงใน สุรางค์ โค้วตระกูล, 2541 : 301-302) กล่าวว่า การเรียนรู้อย่างมีความหมาย (Meaningful Learning) หลักการสอนและวิธีสอนของออซุเบล (Ausubel) เป็นการสอนและมีวิธีสอนที่ครูเป็นศูนย์กลาง คือ ครูเป็นผู้สอนนักเรียนเป็นผู้รับ แต่การรับต้องเป็นไปด้วยความเข้าใจ และมีความหมาย ออซุเบล (Ausubel) ได้สรุปวิธีสอนความคิดรวบยอดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การเรียนรู้ ความคิดรวบยอด หมายถึง การเรียนรู้โดยการค้นพบหรือใช้วิธีอุปมาน(Inductive Process) เช่น เด็กที่เรียนรู้ความคิดรวบยอดของเครื่องใช้ประจำวัน เช่น หมวก” “รองเท้าโดยการมีประสบการณ์ว่า ถ้าออกไปข้างนอกจะต้องสวมหมวกที่ศีรษะ สวมรองเท้าที่เท้า เด็กรับรู้รูปร่าง หมวกและคำว่า รองเท้าแทนสิ่งที่ตนรับรู้และมีมโนภาพ
2. กระบวนการเรียนรู้ความคิดรวบยอด หมายถึง การเรียนรู้แบบอนุมาน (Deductive Process) โดยทราบคำจำกัดความของความคิดรวบยอด พร้อมกับตัวอย่างความคิดรวบยอดของความคิดรวบยอดนั้น เด็กโตและ ผู้ใหญ่ใช้กระบวนการ ออซุเบล (Ausubel) ยังอธิบายอีกว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ถ้าในการเรียนรู้สิ่งใหม่นั้น นักเรียนมีพื้นฐานที่เชื่อมโยงเข้ากับความรู้ใหม่ได้ ซึ่งจะทำให้นักเรียนรู้สิ่งใหม่นั้นมีความหมาย แต่ถ้านักเรียนจะต้องเรียนสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีพื้นฐานมาก่อน จะกลายเป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับความรู้เดิมเลย ออซุเบล (Ausubel) เรียกการเรียนรู้นี้ว่า การเรียนแบบท่องจำ (Rote learning) เพราะนักเรียนเรียนได้แต่ไม่รู้ความหมาย และมีความเห็นแตกต่างจาก บรูเนอร์ (Bruner) ที่เห็นว่าการเรียนที่จะช่วยให้เด็กแก้ปัญหาได้ดีนั้น ใช้วิธีการเรียนแบบรับเอา (Expository teaching และ reception learning) แทนที่จะเป็นการเรียนแบบค้นพบ และ Gagne (1965; อ้างถึงใน กาญจนา คุณารักษ์, 2539: 303) เป็นนักจิตวิทยาและนักการศึกษาที่มีความเชื่อว่า การเรียนรู้เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ประกอบด้วยสถานการณ์และเงื่อนไขที่กำหนดให้โดย การสร้างจุดประสงค์ที่ชัดเจนและกิจกรรมที่สอดคล้องกับ จุดประสงค์นั้น โดยแบ่งประเภทของการเรียนรู้ไว้ 7 ประเภท คือ 1. การเรียนรู้โดยสัญชาติญาณ 2. การเรียนรู้แบบมีสิ่งเร้าและการตอบสนอง 3. การเรียนรู้แบบลูกโซ่ 4. การเรียนรู้โดยใช้ภาษาต่อเนื่อง 5. การเรียนรู้โดยการจำแนกการเรียนรู้มโนคติ 6. การเรียนรู้กฎ 7. การเรียนรู้แบบแก้ปัญหา และ Gagne and Briggs (1979;
อ้างถึงใน กาญจนา คุณารักษ์, 2539 : 253 – 254 ) ได้นำเสนอการเรียนรู้ทางปัญญา 5 ชนิด คือ 1. สารสนเทศทางถ้อยคำ (Verbal information) เป็นสารสนเทศจากการสื่อทางภาษาเป็นความสามารถที่จะรู้เรื่อง และจำสิ่งของหรือเหตุการณ์ได้แล้วเก็บเป็นความรู้ 2. ทักษะทางเชาว์ปัญญา (Intellectual skill) เป็นความสามารถในการจำแนกสิ่งเร้า แสดงความเข้าใจ ความหมาย ประเภทของสิ่งของ บอกคำนิยามได้ สามารถเรียนรู้กฎ และนำกฎไปใช้ใน สถานการณ์อื่นๆ และนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่มาใช้ในการแก้ปัญหา 3. กลยุทธ์ทางปัญญา (Cognitive strategy) เป็นยุทธศาสตร์ความคิดในการวางแผนตัดสินใจและควบคุมดำเนินการโดยใช้ความสนใจและความตั้งใจ การจำ การเรียนรู้ และการคิด 4. ทักษะทางการเคลื่อนไหว (Motor skill) เป็นความสามารถในการทำกิจกรรมและความชำนาญในการใช้กล้ามเนื้อเพื่อการเคลื่อนไหวเบื้องต้น 5. เจตคติ (Attitude) เป็นตัวกำหนดให้บุคคลมีการกระทำต่างๆ กันตามความเชื่อ ค่านิยม และความรู้สึก นอกจากนี้ กาเย่ (Gagne) ยังแสดงความคิดเห็นว่า การสอนให้เรียนรู้เนื้อหานั้นมีความสำคัญยิ่งกว่าการเรียนรู้กระบวนการ และครอบคลุมหลักการเรียนรู้ ในด้านทักษะเชาวน์ปัญญา โดยนำมาประยุกต์ใช้ในการสอนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ มีเทคนิค 9 ขั้นในกระบวนการสอน คือ 1. เพิ่มความตั้งใจของนักเรียน (Gaining attention) 2. แจ้งจุดประสงค์แก่นักเรียน (Informing learners of the objective) 3. กระตุ้นให้ระลึกถึงความรู้เดิมที่มีมาก่อน (Stimulating recall of the prior learning)
4. นำเสนอสื่อวัสดุการเรียนการสอนที่น่าสนใจ (Presenting the stimulus) 5. จัดเตรียมคำแนะนำในการเรียนรู้ ( Providing learning Guidance) 6. ให้นักเรียนปฏิบัติตามที่ต้องการ (Eliciting performance) 7. การเฉลยผลการกระทำของนักเรียนทันที (Providing feeding) 8. ประเมินผลการปฏิบัติงาน (Assessing performance) ส่งเสริมการคงความรู้และการถ่ายโอนการเรียนรู้ (Enhancing retention and transfer) สอดคล้องกับแนวคิดของ Jonassen (1992:  138 – 139; อ้างถึงใน ทิศนา แขมมณี, 2545: 93 – 94) กล่าวว่า การสร้างความรู้จะให้ความสำคัญกับกระบวนการและวิธีการของบุคคลในการสร้างความรู้ ความเข้าใจจากประสบการณ์ รวมทั้งโครงสร้างทางปัญญาและความเชื่อที่ใช้ในการแปลความหมายเหตุการณ์และสิ่งต่างๆ ความสนใจ ความต้องการ และภูมิหลังของแต่ละบุคคลซึ่งมีความแตกต่างกันคนทุกคนมีโลกของตัวเอง ซึ่งเป็นโลกที่สร้างขึ้นด้วยความคิดของตน การสร้างความรู้จึงเป็นกระบวนการทั้งทางด้านสติปัญญาและสังคมควบคู่กันไป
จากการศึกษาแนวคิดจิตวิทยาที่กล่าวมา พบว่ามีความสัมพันธ์กับแนวคิดคอนสตรัค
ติวิสต์
(Constructivist)
และเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ที่มีการนำมาใช้ในการสร้างแผน
การเรียนการสอน โดยนักเรียนต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสภาพแวดล้อม การจัดการเรียนการสอนจะต้องเป็นการสร้างสถานการณ์ที่ทำให้นักเรียนค้นพบโครงสร้างทางความรู้ ความคิด ที่
ไม่นานก็ลืม การทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์
(Constructivist) จะต้องทำให้นักเรียนอยู่ในสถานการณ์ที่นักเรียนได้เป็นผู้ลงมือปฏิบัติได้เป็นผู้คิดเองหรือทดลองเองว่าเกิดอะไรขึ้น หรือได้เป็นผู้จัดกระทำต่อสิ่งนั้น มีข้อสงสัยเกิดขึ้น และนักเรียน ค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง เปรียบเทียบผลของตนเองกับผู้อื่น ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและสังคม โดยนักเรียนเริ่มต้นเรียนรู้จากการกระทำ ต่อไปจึงจะสามารถจินตนาการ สร้างภาพในใจหรือในความคิดขึ้นได้กล่าวว่าการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (Meaningful Verbal Learning) จะเกิดขึ้นได้หากการเรียนรู้นั้นสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีมาก่อน การให้กรอบความคิดแก่นักเรียนก่อนการสอนเนื้อหาสาระใดๆ จะช่วยเป็นสะพานหรือโครงสร้างที่นักเรียนสามารถนำเนื้อหา หรือสิ่งที่เรียนใหม่ไปเชื่อมโดยยึดเกาะได้ ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีความหมายและตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ประกอบด้วยสถานการณ์และเงื่อนไขที่กำหนดได้โดยการสร้างจุดประสงค์ที่ชัดเจนและจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับจุดประสงค์นั้น